สตาร์ทอัพอินเดียโตจริง หรือ “โตกระจุก”?

3 January 2019 Startups

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสตาร์ทอัพในจีนแผ่นดินใหญ่และอินเดียต่างเติบโตจนกลายเป็นยูนิคอร์นกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี มีตัวเลขที่น่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเติบโตของสตาร์ทอัพในอินเดีย นั่นคือข้อมูลจาก CB Insight ระบุว่าการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่มีในสตาร์ทอัพของอินเดียตลอดปี 2560 ที่คิดเป็นมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น มีเพียง 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นที่เป็นการลงทุนในระดับ Seed และ Angel ขณะที่เม็ดเงินราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าครึ่งของเงินทั้งหมดไหลไปหาบรรดายูนิคอร์นส่วนใหญ่ของประเทศ

นั่นทำให้หลายฝ่ายต้องหันมาพิจารณาภาวะที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างละเอียดมากขึ้น เพราะหากมองแต่ตัวเลข แน่นอนว่าอินเดียกำลังมีเงินทุนไหลเข้าสู่วงการสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมาก แต่จะเกิดประโยชน์อะไร หากเงินเหล่านั้นไม่ได้ลงมาถึงสตาร์ทอัพรุ่นเยาว์มากพอที่จะสร้างยูนิคอร์นตัวใหม่ๆ

โดยหากพิจารณาจากรายงานของ CB Insight ย้อนหลังไป 3 ปี จะพบว่า การระดมทุนที่ผ่านมาของอินเดีย นักลงทุนจะมองไปที่บริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงปี 2558 – 2559 นั้น แม้เม็ดเงินจะยังไม่มากนัก แต่จำนวนของดีลที่สามารถปิดได้เพิ่มขึ้น 9.6% จาก 889 ดีล กลายเป็น 974 ดีล ส่วนในปี 2560 นั้น แม้อินเดียจะระดมทุนได้แตะ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขของดีลที่ปิดได้ ลดลงไป 19.3% เลยทีเดียว โดยสตาร์ทอัพที่ครองส่วนแบ่งจากการระดมทุนได้สูงสุด ได้แก่ ฟลิปคาร์ท (Flipkart) โอลา แคบส์ (Ola Cabs) เพย์ทีเอ็ม (PayTM) และโอโย รูมส์ (Oyo Rooms) โดยมีนักลงทุนรายใหญ่อย่างซอฟท์แบงค์, เทนเซ็นต์ โฮลดิ้ง ฯลฯ ให้การสนับสนุน ซึ่งบริษัทเหล่านี้ต่างคาดหวังว่าการลงทุนของตัวเองในยูนิคอร์นอินเดียจะทำให้บริษัทได้ขยายอาณาจักรสู่ภูมิภาคเอเชียได้อย่างเต็มตัว

โอลาแคบส์ก็เป็นอีกหนึ่งสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้มากกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 โดยในจำนวนนี้มี 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากซอฟท์แบงค์ เมื่อไตรมาส 4 ของปี 2560 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงสไตล์การลงทุนของนักลงทุนต่างๆ แล้วก็พบว่ามีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนจากฝั่งแดนปลาดิบที่จะเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่บริษัทอย่างไทเกอร์ โกลบอล แมเนจเมนท์ กลับเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีสถานะยูนิคอร์นเท่านั้น หรือในกรณีของซอฟท์แบงค์ก็มีจุดเด่นว่า เป็นบริษัทที่มีการลงทุนในธุรกิจร่วมเดินทางมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยซอฟท์แบงค์ลงทุนทั้งในอูเบอร์ สหรัฐอเมริกา, โอลาแคบส์ของอินเดีย แล้วก็ยังมีแกร็บ (Grab) ในสิงคโปร์ ตีตี้ชูสิง ของจีน รวมถึง 99 สตาร์ทอัพร่วมเดินทางสัญชาติบราซิลที่ถูกควบกิจการโดยแกร็บในเวลาต่อมาด้วย

ส่วนนักลงทุนอย่าง Accel Partners ที่ปัจจุบันลงทุนไปแล้ว 11 รอบในสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ก็ออกมาเผยเช่นกันว่า บริษัทมีการลงทุนในธุรกิจจัดส่งอาหาร Swiggy ไปถึง 6 รอบ รวมถึงในซีรีส์ E ของบริษัทที่เกิดขึ้นเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ในมูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้มีเม็ดเงินราว 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐหล่นถึงมือเทคสตาร์ทอัพรายย่อยของอินเดีย

สำหรับปี 2561 เป็นปีที่อินเดียคาดว่าจะมีรายชื่อสตาร์ทอัพในลิสต์ของการลงทุนเพิ่มเป็น 1,200 ราย แต่จากรายงานของ NASSCOM พบแนวโน้มว่า ตัวเลขของเงินลงทุนในสตาร์ทอัพอินเดียนั้นอาจลดลงได้ และนั่นทำให้อินเดียยังไม่สามารถจะเรียกการเติบโตของสตาร์ทอัพในประเทศว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงได้อย่างแท้จริงนั่นเอง

อ้างอิง: Entrepreneur.com