PwC เผยผลสำรวจ ‘เอเปก’ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเติบโต แม้กังวลความตึงเครียดทางการค้าเพิ่

26 November 2018 Corporate

PwC เผยซีอีโอในกลุ่มประเทศเอเปกยังคงเชื่อมั่นว่า แนวโน้มการเติบโตของรายได้และธุรกิจของตนในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะแข็งแกร่ง แม้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมากกว่าครึ่งมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในปีหน้า ขณะที่ ‘ไทย’ ติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ รองจากเวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา และ ออสเตรเลีย ชี้ผู้นำธุรกิจเอเปกตื่นตัวต่อการเข้ามาของเทคโนโลยี พร้อมเล็งจ้างงานเพิ่ม แต่วอนภาครัฐฯ ให้ปรับปรุงระบบการศึกษาและพัฒนาทักษะสะเต็มให้แก่แรงงาน

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจล่าสุด APEC CEO Survey 2018 ที่ใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2561 ณ เมืองพอร์ตมอร์สบี ประเทศ  ปาปัวนิวกินี ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งทำการสำรวจผู้บริหารในกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก จำนวน 1,189 รายใน 21 ประเทศว่า 35% ของซีอีโอเอเปกแสดงความมั่นใจมากว่า รายได้ของบริษัทในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโต เปรียบเทียบกับ 37% ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ 51% ของผู้นำธุรกิจในภูมิภาคยังมีแผนจะเพิ่มการลงทุนในปีหน้า

ผลสำรวจเอเปกในปีนี้ยังระบุว่า ซีอีโอจากสหรัฐอเมริกาและไทย ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำทางธุรกิจที่แสดงความมั่นใจต่อการเติบโตของรายได้มากที่สุดในปีนี้ (ที่ 57% และ 56% ตามลำดับ) ในขณะที่ผู้ถูกสำรวจจากจีนและเม็กซิโก ซึ่งทั้งสองถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 25% และ 21%

ทั้งนี้ จากการสำรวจครั้งที่ 2 กับผู้นำทางธุรกิจของสหรัฐฯ จำนวน 100 ราย ภายหลังจากการที่สหรัฐฯ และจีนตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ (69%) คาดว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อรายได้บริษัทของพวกเขา และมีเพียง 27% ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบเชิงลบต่อต้นทุนของบริษัท

นอกเหนือจากมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของรายได้แล้ว 51% ของผู้บริหารเอเปกยังวางแผนจะเพิ่มระดับของการลงทุนมากขึ้น เปรียบเทียบกับ 43% ในปี 2559 โดยประเทศที่ถูกจัดให้เป็นเป้าหมายของการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ได้แก่ เวียดนาม จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของออสเตรเลียที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ตลาดที่เป็นเป้าหมายการลงทุน ขณะที่อินโดนีเซียหลุดอันดับไปในปีนี้

“ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะสภาพเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่ดี โดยได้รับปัจจัยหนุนทั้งจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ประกอบกับการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ในด้านทรัพยากรและแรงงานเอง ไทยก็มีความพร้อมทั้งทางด้านทักษะ และค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งผลักดันคือ การพัฒนาและฝึกอบรมทักษะสะเต็มซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในทักษะที่มีความสำคัญและจำเป็นมากต่อแรงงานในยุคดิจิทัล” นายศิระกล่าว

ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย หรือจีดีพี ในช่วงไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 4.6% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 4.8%

นอกเหนือจากการลงทุนในตลาดยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน ผู้บริหารยังมองหาโอกาสในการทำธุรกิจในตลาดสำคัญอื่นๆ ด้วย โดยมองว่า สิงคโปร์และญี่ปุ่น ถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอันดับต้นๆ ที่มีความพร้อมและระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1 พันล้านเหรียญ)

“ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะไม่ชอบความไม่แน่นอนทางธุรกิจในทุกๆ มิติ อย่าว่าแต่ประเด็นเรื่องของการค้าเลย พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงใหม่ และแสวงหาหนทางที่จะเติบโตและประสบความสำเร็จ ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 5 ของผู้นำธุรกิจที่เราได้มีโอกาสพูดคุยด้วย บอกว่าเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าใหม่ๆ ในปีนี้ แต่จำนวนซีอีโอที่มองเห็นโอกาสใหม่ๆ จากข้อตกลงทางการค้าก็ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา” นายเรย์มันด์ ชาว ประธานบริษัท PwC สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าว

“ในทุกสงครามทางการค้าย่อมมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ แต่รายงานของเราก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ธุรกิจยังค้นพบลู่ทางใหม่ๆ เพื่อดำเนินไปสู่การเติบโต”

สำหรับแนวโน้มของตลาดการจ้างงานในเอเปกนั้น ผลสำรวจพบว่า ยังคงมีทิศทางเชิงบวก โดย 56% ของผู้นำทางธุรกิจบอกว่า มีการจ้างงานมากขึ้นและมีเพียง 9% เท่านั้นที่กำลังลดจำนวนพนักงานลง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะที่ใช่สำหรับองค์กรยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก โดย 34% ของผู้บริหารยังคงเผชิญกับปัญหาการเฟ้นหาพนักงานที่มีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับองค์กร ซึ่งช่องว่างดังกล่าวนี้ พบมากในส่วนของการขาดแคลนทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science, technology, engineering and maths: STEM) ทั้งนี้ 65% ของผู้บริหารระบุว่า ภาครัฐฯ จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญในทักษะมากขึ้น และมีเพียง 14% ที่รู้สึกว่า ภาครัฐฯ ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้ดีแล้ว

ประเด็นเรื่องของการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นนี้ ยังสะท้อนได้จากความเห็นของผู้บริหารเมื่อถูกถามว่า ปัจจัยใดที่ผู้นำเอเปกควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึงต่อประชากรทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งนั่นก็คือ การขยายการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูงในทุกๆ ระดับ ตามด้วยการพัฒนาทางด้านคมนาคม