ถอดบทเรียนและสิ่งที่ต้องเดิมพันใน Deep Tech Startup จาก Silicon Valley สู่ไทย

23 November 2018 Startups

Deep Tech จะเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยมากขึ้น ขณะเดียวกันการเติบโตของ Deep Tech Startup ในแง่ของเม็ดเงินลงทุน ก็มีการเติบโตแซงหน้าสตาร์ทอัพกลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ด้วยความเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างความแตกต่าง แก้ปัญหาของโลกด้วยวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ จนต่อยอดสร้างประโยชน์ให้วงการธุรกิจและอุตสาหกรรมภาคต่างๆ กำเนิดเป็นวงจรใหม่ๆ สร้างเป็นปรากฏการณ์สู่เศรษฐกิจโลกที่เด่นชัดมากขึ้น

หลายบริษัทวิจัยชั้นนำของโลกฟันธงคล้ายๆ กันว่า สตาร์ทอัพที่จะเติบโตในปีนี้และยังมีศักยภาพเปลี่ยนแปลงโลก เกือบ 100% เป็น Deep Tech Startup ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านการแพทย์ เทคโนโลยีก่อสร้าง เกษตรเชิงสังเคราะห์ ไมโครชิปปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีจรวด รวมทั้งควอนตัมคอมพิวเตอร์

สหรัฐอเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ ไต้หวัน สิงคโปร์ อิสราเอล และที่ขาดไม่ได้คือประเทศจีน ถือเป็นประเทศที่ Deep Tech Startup มีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ ถูกจับตามอง และมีศักยภาพที่จะทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่โลกอนาคตอย่างมีคุณภาพ

ขณะเดียวกันกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอลหรือนักลงทุนไทย ก็ให้ความสนใจลงทุนใน Deep Tech Startup มากขึ้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก แต่วีซีหลายรายก็หวังที่จะเห็น Deep Tech Startup ในไทยเพิ่มขึ้น และก็พร้อมที่จะลงทุน เพราะเชื่อว่าจะสามารถเข้ามาเปลี่ยนโลกได้ในหลายมิติ

โดยเฉพาะกลุ่มเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ บริการด้านสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีช่วยดูแลสุขภาพคน เทคโนโลยีที่จะนำมาช่วยแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน  ธุรกิจที่ดูแลหรือแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่กระทบกับภาคการผลิต การเกษตร และอุตสาหกรรม

ศูนย์รวมของสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจและคิดค้นเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิต ให้มนุษย์มีความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเทคโนโลยีที่จะมาเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ Deep Tech แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญของเหล่ากองทุนสตาร์ทอัพจะอยู่ที่ Silicon Valley, San Francisco ที่เป็นแหล่งรวมเทคโนโลยีขั้นสูงที่คิดค้นเพื่อแก้ Pain Point ให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Insight เคล็ดลับสู่เส้นทาง Deep Tech Startup บทเรียนจาก Silicon Valley

Hunter McDoniel UviQD Deep Tech Startup ชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมดอท และ Craig Mosman ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ CibusDX ผู้พัฒนาระบบตรวจสอบความปลอดภัยในอาหาร สตาร์ทอัพระดับ Series A ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Forbes Thailand ถึงเคล็ดลับการก้าวสู่เส้นทาง Deep Tech Startup ที่ยั่งยืนและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกได้อย่างแท้จริง

“หากคุณจะเป็น Deep Tech Startup คุณต้องพัฒนาโปรดักส์ให้ลูกค้าชอบ จากนั้นหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจเก่งๆ มาช่วยทำให้เห็นว่า โปรดักส์ของคุณทำให้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างไร แล้วค่อยเดินไปหานักลงทุน” McDoniel เจ้าของ UbiQD สตาร์ทอัพระดับ Series A ผู้คิดค้นวัสดุที่พัฒนาจากเทคโนโลยีควอนตัมดอท เช่น กระจกและฟิล์มพลาสติก ในอาคารหรือตึกสูงทั่วโลก ที่กระจกรอบตัวอาคารสามารถเป็นแหล่งพลังงานได้  โดยผ่านการรับรองจาก Los Alamos National Laboratory (LANK) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ กล่าว

UbiQD ได้รับเงินระดมทุนจากนักลงทุนในสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่องระดับ 5 จนถึง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และพร้อมระดมทุนเพิ่ม เพราะมีนักลงทุนสนใจในเทคโนโลยีที่ UbiQD พัฒนาออกมาอย่างมากมาย โดย UbiQD ตั้งอยู่ในเมือง Los Alomos รัฐ New Mexico ซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง

เขากล่าวว่า ควอนตัมดอทมีมานานแล้วและจะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญกับโลกอนาคต ควอนตัมดอทไม่ได้ใช้งานในวงการเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ยังประยุกต์ใช้ได้กับการผลิตเซลล์สุริยะ หรืออุปกรณ์สื่อสารทางไกล เทคโนโลยีควอนตัมที่จดสิทธิบัตรเฉพาะของ UbiQD จะช่วยเพิ่มสเปกตรัมของแสงอาทิตย์ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้นหรือเร็วขึ้น โดยปัจจุบันตลาดใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรแถบยุโรป โดยเฉพาะในเรือนเพาะชำทางการเกษตร สามารถปรับเปลี่ยนสเปกตรัมแสงอาทิตย์ให้เหมาะกับการปลูก การเติบโตของพืชแต่ละชนิด เช่น ชาวสวนโรงเพาะชำมะเขือเทศในยุโรป ให้ได้ผลผลิตเร็วขึ้นและออกสู่ตลาดได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิม

ขณะเดียวกัน กระจกจากควอนตัมเทคโนโลยีก็สามารถทำหน้าที่ผลิตแสงอาทิตย์ ตอบโจทย์แนวโน้มเมืองแห่งอนาคต (Smart City) ที่หลายๆ ประเทศกำลังให้ความสำคัญ

“การจะให้ประสบความสำเร็จเป็นที่สนใจของนักลงทุน Deep Tech ต้อง more time and money ต้องใช้เวลามากทั้งสร้างการยอมรับและการคิดค้นพัฒนาโปรดักส์ ต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับเงินลงทุนที่คุณมี  แล้วจัดลำดับความสำคัญของเงินที่จะใช้ โปรดักส์ต้องชัด ใช้งานได้จริง วางโมเดลธุรกิจให้ชัด เมื่อมีสิ่งเหล่านี้ จึงจะไปโฟกัสที่นักลงทุน Deep Tech Startup สามารถก้าวไปสู่ยูนิคอนได้ แต่สิ่งที่ยากคือช่วงเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” McDoniel กล่าว

ด้าน Craig Mosman ที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีจนเชี่ยวชาญด้านการตรวจเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร กล่าวว่า Deep Tech คือการเดิมพันอย่างหนึ่ง เพราะคุณอาจต้องใช้เวลาทดสอบโปรดักส์ของคุณนานกว่า 6 เดือน และในตอนจบมันอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเยี่ยม หรืออาจกลายเป็นหายนะก็ได้

การที่มนุษย์ควรมีระบบตรวจสอบเชื้อโรคในอาหารที่ให้ผลแม่นยำ มนุษย์ต้องป่วยหรือเสียชีวิตจากการกินอาหารที่ปนเปื้อน กลายเป็น passion ของ Mosman ที่ต้องการพัฒนาระบบตรวจจับ และวิเคราะห์เชื้อโรคในอาหารได้อย่างเรียลไทม์ ผ่านอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก และแสดงผลผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน  โดยเฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งในฟาร์ม หรืออาหารสดประเภทอื่นๆ ผู้ที่อยู่ในซัพพลายเชนร้านอาหาร รวมถึงพ่อค้าคนกลาง คือเป้าหมายที่ต้องใช้ระบบนี้

เครื่อง CibusDx สามารถตรวจสอบเชื้อโรครู้ผลใน 30 นาที จากปกติที่ต้องใช้เวลามากกว่า 24-72 ชั่วโมง การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเฉพาะด้าน วางบนแถบทดสอบ จะทำงานคล้ายๆ กับเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดไร้สาย ทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ผลจะถูกส่งจากระบบเรียลไทม์ ไปยังระบบควบคุมคุณภาพ ทำให้ผู้ผลิตอาหารสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

สิ่งที่คุณต้องเดิมพันใน Deep Tech Startup

เส้นทางของ Mosman ไม่ง่ายเลย เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพคน ยิ่งต้องถูกตรวจสอบอย่างมาก ถึงแม้เขาจะผ่านด่านทดสอบนี้ไปได้ เขาก็ต้องเดินหน้าสร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการออกโรดโชว์ทางประเทศต่างๆ เขากล่าวว่า ความท้าทายของ Deep Tech Startup คือ regulatory process ซึ่งเทคโนโลยีลักษณะนี้ต้องใช้เวลามาก และใช้ทุนไม่น้อย ต้องเจอกับคำถามของนักลงทุนและพาร์ทเนอร์

“มันคือการเดิมพันอย่างหนึ่ง ดังนั้นคุณต้องมุ่งมั่นมากพอ ต้องเชี่ยวชาญ รู้จริง และแน่นอนว่า คุณต้องอดทนมาก เพราะแผนธุรกิจของคุณจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากนักลงทุนได้ง่ายๆ” Mosman กล่าว

ขณะที่สเต็ปต่อไปของ UbiQD และ CibusDx คือ การขยายตลาดออกนอกสหรัฐฯ และยุโรป โดยพุ่งเป้ามาที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย พร้อมหาช่องทางระดมทุนเพิ่มจากนักลงทุนในแถบนี้ โดยเฉพาะประเทศไทย ที่เป็นประเทศเกษตรกรรมขนาดใหญ่ เป็นตลาดที่มีศักยภาพเรื่องเทคโนโลยี และการเป็นฮับด้านอาหารของโลก

ส่วนเวนเจอร์แคปปิตอลกลุ่มที่มีชื่อเสียงของเมืองไทยที่ได้ประกาศระดมทุนใน Deep Tech ก่อนหน้านี้อย่างกลุ่มครีเอทีฟ เวนเจอร์ โดยปุณยธร สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการหุ้นส่วนและผู้ร่วมก่อตั้ง ก็ตั้งเป้าลงทุนด้าน Deep Tech Startup ใน Silicon Valley โดยมองว่าเทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้จะเข้ามาช่วยเปลี่ยนโลก และมีความเป็นไปได้ด้านธุรกิจในโลกอนาคต

ด้านอิทธิพันธ์ พีระเดชาพันธ์ CEO บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ด แอนด์มาร์เก็ตติ้ง กล่าวกับ Forbes Thailand ว่า เตรียมที่จะตั้งกองทุนของตัวเองโดยใช้เงินส่วนตัว เพื่อลงทุนด้าน Deep Tech Startup อย่างจริงจังในปี 2562 ซึ่งเขาเชื่อว่า Deep Tech จะมีบทบาทเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะด้านการเกษตร รวมทั้งโรงงานผลิตสาหร่ายเถ้าแก่น้อยด้วย

“ผมคิดว่าการสร้าง Deep Tech ขึ้นมาได้ จะเป็นเรื่องของ Al big data และ IoT ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมเกษตรมีศักยภาพเพิ่มขึ้นมหาศาล Deep Tech จะสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น คนทำธุรกิจจะต้องตามเทคให้ทัน” อิทธิพันธ์กล่าว