มธ. เฟ้นไอเดียเจ๋ง พัฒนาธุรกิจ Startup เพื่อสังคมกับโครงการ Hult Prize at Thammasat

14 November 2018 Startups

Hult Prize เป็นอีกหนึ่งโครงการแข่งขันประกวดไอเดียธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถสร้างกำไรและการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง ภายใต้ความร่วมมือกับ Hult International Business School United Nations และ Education First ที่เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2010 และได้จุดประกายไอเดียให้นักศึกษาทุกปีกว่าล้านคนทั่วโลกในการสร้างสรรค์ธุรกิจ Startup เพื่อแก้ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง

โดยปีนี้มีโจทย์การแข่งขันคือ “Developing an Idea to Provide Meaningful Jobs to 10 Million Young People within the Next Decade” เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจที่จะตอบโจทย์ด้าน Youth and Unemployment และเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมปีแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมสำหรับนักศึกษาทั้งการอบรมสร้างความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคมและนวัตกรรมทางสังคม โมเดลธุรกิจเพื่อสังคมและการสร้าง Theory of Change จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมากความสามารถที่มีประสบการณ์ตรงในการทำธุรกิจเพื่อสังคมของไทย

ล่าสุดได้จัดการแข่งขันรอบคัดเลือก (Internal Pitch) เพื่อคัดเลือกแนวคิดธุรกิจ Startup เพื่อสังคมที่สามารถแก้ปัญหาตอบโจทย์ด้าน Youth and Unemployment จากผู้เข้าแข่งขันให้เหลือ 4 ทีม โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ NIA เข้าร่วมการตัดสิน

โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือก 4 ทีมสุดท้าย ได้แก่ ทีม The Party Liable ‘Hired’ ศูนย์ฝึกอบรมและจัดหางานสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาสให้ได้รับการจ้างงานเหมือนบุคคลทั่วไป ด้วยการเพิ่มทักษะวิชาชีพด้านอาชีวศึกษา ผ่านการเรียนรู้และฝึกอบรม จนได้รับการจ้างงานจากบริษัทพันธมิตร

ทีมที่ 2 Wallflower ในผลงาน ‘Passion Pool’ เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงแก่เยาวชนและกลุ่ม SMEs เพิ่มโอกาสในการฝึกงาน ทำงานแบบ Part-time และการสมัครเข้าทำงาน โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้บิ๊กดาต้าและอัลกอรึทึมในการทำงาน และสร้างการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการศึกษาออนไลน์และบริษัทจากเอกชนที่เป็นหน่วยงานพันธมิตร

ทีมที่ 3 4All บริษัทออกแบบงานบริการในการฝึกอบรมและจ้างงานให้เยาวชนที่เคยกระทำความผิดให้ได้รับโอกาสการจ้างงาน และช่วยออกแบบงานบริการในลักษณะงาน CSR ให้แก่บริษัทหรือองค์กรทั่วไป โดยจะใช้ประเด็นความท้าทายของสังคมควบคู่ไปกับการพัฒนางาน CSR เพื่อช่วยให้เยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้เรียนรู้และพัฒนาความสามารถ ภายใต้ความร่วมมือจากองค์กรในเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก ได้แก่ DSIL, GSSE, Full Circle Filament, EDC, Wedu

และทีมที่ 4 Jelly Bear Consulting ‘ReYouth’ เป็นบริษัทผลิตรองเท้าที่ให้เยาวชนได้รับโอกาสการจ้างงานควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเรื่องการลดปริมาณทรัพยากรที่เกินความจำเป็น ด้วยกระบวนการผลิตรองเท้าที่มุ่งเน้นด้านการรีไซเคิลเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หลังจากนี้ Finalist ทั้งสี่ทีมจะเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitch) ในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายนนี้ ที่ C ASEAN เพื่อเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียที่เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2018 เพื่อเข้าสู่การคัดเลือกเป็นตัวแทนจากภูมิภาคเอเชียเข้าร่วม Accelerator Program ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เพื่อเตรียมตัวในการแข่งขันระดับโลกต่อไป

2
3
4
5
previous arrow
next arrow