จับตายุคทองของสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว

16 November 2018 Startups

อาจกล่าวได้ว่า ระยะนี้เป็นช่วงเวลาสุดฮอตของสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว เห็นได้จากการให้ความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก แต่การจะผ่านช่วงเวลาแห่งความร้อนแรงและการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้อย่างไรต่างหากเป็นสิ่งสำคัญ

ข้อมูลจาก TechCrunch ระบุว่า ตลาดด้านการเดินทางและท่องเที่ยวเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีมูลค่าสูงประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการคาดการณ์ว่าตลาดการท่องเที่ยวออนไลน์จะเติบโตขึ้นแตะ 800,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นอาจทำให้นักลงทุนเข้ามามองหาสตาร์ทอัพที่อาจเข้าไปสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้นดังที่ปรากฏ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีตัวเลขการระดมทุนของบริษัทด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพด้านการเช่าอสังหาริมทรัพย์แบบระยะสั้น หรือสตาร์ทอัพด้านการจัดทัวร์

ส่วนข้อมูลจาก PitchBook ยังพบด้วยว่า Airbnb บริษัทที่มีมูลค่า 30,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐสามารถระดมทุน และได้เงินกลับไปถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสตาร์ทอัพ TripActions และ Klook ก็เลื่อนชั้นเข้าสู่ยูนิคอร์น (มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ไปแล้วเรียบร้อยในการระดมทุนรอบที่ผ่านมา ขณะที่สตาร์ทอัพผู้ผลิตกระเป๋าเดินทาง Away ก็สามารถระดมทุนได้อีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่า ณ ปัจจุบันแล้ว 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีสตาร์ทอัพที่กำลังเติบโตอย่าง Freebirds, IfOnly, KKDay, Duffel and RedDoorz ก็สามารถระดมทุนได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่แค่สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวที่เติบโต เพราะสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่าง Brex ก็ได้รับความสนใจเช่นกัน โดยโมเดลธุรกิจของ Brex นั้นไม่ถูกจัดเป็นสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว หากแต่เป็นธุรกิจที่ทำเครดิตการ์ดเพื่อสตาร์ทอัพ ซึ่งจะได้รับคะแนนพิเศษเมื่อพนักงานของบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้ใช้จ่ายผ่านบัตรขณะเดินทางไปทำงาน โดย Brex สามารถระดมทุนซีรีย์ C และได้มาที่ 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บริษัทมีมูลค่ารวม 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้วนั่นเอง

แอเรียล โคเฮน ผู้ก่อตั้ง TripActions เผยถึงแนวโน้มด้านการลงทุนว่า สิ่งหนึ่งที่บริษัทยุคใหม่ให้ความสำคัญก็คือ การที่พนักงานทำงานอย่างมีความสุข พร้อมๆ กับการช่วยกันสร้างให้บริษัทเติบโต ซึ่งนั่นทำให้เกิดการลงทุนใน Brex และ TripActions ดังที่ปรากฏ ส่วนเนล ซีเควียร่า ผู้ก่อตั้ง Defy Partners และเคยเป็นผู้บริหารของ General Catalyst บริษัทผู้ลงทุนใน Airbnb เป็นรายแรกกล่าวว่า ในระหว่างที่โลกดิจิทัลกำลังเซ็ตตัวอยู่นี้ จะเห็นได้ว่าโลกมีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้นสิ่งที่ควรโฟกัสเมื่อต้องการอยู่ให้รอดในตลาดเช่นนี้ก็คือ การปรับปรุงความพึงพอใจของผู้บริโภค การทำงานให้มีประสิทธิภาพ และการมองหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจ

ขณะเดียวกัน บริษัทขนาดใหญ่ก็เริ่มลงมามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจท่องเที่ยว เช่น SAP Concur ที่ซื้อกิจการของ Hipmunk สตาร์ทอัพด้านการจองตั๋วไปเมื่อปี 2559 รวมถึงซื้อกิจการของ Triplt สตาร์ทอัพด้านการวางแผนท่องเที่ยวไปด้วยเงิน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านเอ็กซ์พีเดียก็ซื้อกิจการของสตาร์ทอัพไปหลายรายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสตาร์ทอัพด้านการแชร์ภาพถ่ายอย่าง Trover, HomeAway สตาร์ทอัพคล้าย ๆ Airbnb โดยเอ็กซ์พีเดียจ่ายเงินไปเพื่อการนี้ราว 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว (ปี 2558) นอกจากนี้บริษัทยังได้ซื้อกิจการของ Pillow และ ApartmentJet มาเมื่อเร็วๆ นี้อีกด้วย แต่การซื้อกิจการที่กล่าวมาข้างต้นอาจแตกต่างจากการระดมทุนค่อนข้างมาก ซึ่งทั้งสองเส้นทางต่างมีข้อดี-ข้อเสีย โดยสตาร์ทอัพที่ต้องการเติบโตเหมือนเช่น Airbnb อาจต้องมองให้กว้างกว่าการถูกควบหรือซื้อกิจการโดยบริษัทขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี ต้องประเมินสภาพตลาดด้วยเช่นกัน เพราะธุรกิจท่องเที่ยวคือธุรกิจที่อยู่ได้จากเงินที่ผู้บริโภคจ่าย (มากเกินไป) ในการเดินทาง ดังนั้น หากเงินในมือของผู้บริโภคมีน้อยลง หรือมีหนทางที่พวกเขาจะประหยัดได้มากขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบ

อ้างอิง: TechCrunch.com