กะเทาะเปลือกโลกนวัตกรรมนอร์เวย์

29 October 2018 Startups

นอร์เวย์ เป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าด้านนวัตกรรมระดับโลก ด้วยดรรชนีนวัตกรรมอันดับ 19 จากทั้งหมด 127 ประเทศ ในปี 2560 จากคุณภาพการศึกษาและการให้น้ำหนักการลงทุนด้านนวัตกรรมของทั้งรัฐและเอกชน และกำลังเป็นดาวรุ่งที่ดึงดูด “สตาร์ทอัพ” ที่โดดเด่นในยุโรป

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้เข้าร่วม Oslo Innovation Week 2018 ระหว่างวันที่ 24 – 27 กันยายน 2561 ได้พบกับผู้นำทางความคิดระดับโลก หน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรม สถาบันการศึกษา ธุรกิจขนาดใหญ่ และสตาร์ทอัพ

เอกชนที่โดดเด่นด้านวิจัยนวัตกรรมระดับสูงอย่าง Yara International เป็นบริษัทที่ต้องไปเยือน Yara เป็นศูนย์วิจัยระดับสูงด้านผลิตภัณฑ์เสริม อาหารพืช  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสัตว์ เคมีภัณฑ์สำหรับโรงงานและการประมง และระบบการแก้ไขปัญหาในฟาร์ม และมีการขยายการผลิตไปสู่พื้นที่ต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศ และจำหน่ายสินค้าไปกว่า 150 ประเทศ บริษัทได้ส่งออกแคลเซียมไนเตรตเป็นครั้งแรกมายังประเทศไทยในปีค.ศ.1907

Yara เผยแผนงานว่าจะเป็นหน่วยงานแรกของโลกที่จะเริ่มใช้เรือไร้คนขับในการขนส่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพืชซึ่งมีชื่อว่า Yara Birkeland ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งมากขึ้น 50 เท่า รวมทั้งยังลดมลภาวะและความไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เส้นทางรถยนต์

เรือไร้คนขับนี้จะใช้พลังงานจากน้ำ (hydro-electricity) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดด้วยเงินลงทุน 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเริ่มใช้งานในปี 2020 โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

บริษัท คองสเบิร์ก และบริษัทคาลเมอร์ ได้เข้ามาช่วยผลิตเรือในส่วนของระบบปฏิบัติการโดยเฉพาะโซลูชันการจัดการขนส่งสินค้าที่จะต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เมื่อเปลี่ยนมาใช้การขนส่งด้วยเรือแทนรถยนต์ ส่วนของภาครัฐคือการลงทุนเงินและการผลักดันกฎหมาย

Yara ยังได้นำนวัตกรรมต่างๆ มาให้ชาวนาและผู้ค้าปลีกในไทยได้ใช้ เช่น คีออสให้ความรู้กับผู้ค้าปลีก ให้ข้อมูลสภาวะการปลูกผักและผลไม้สายพันธุ์ต่างๆ  และยังให้การสนับสนุน N Tester เครื่องมือการตรวจว่าพืชต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพืชในปริมาณเท่าใด

 

มุ่งสร้างผู้ประกอบการระดับสากล

พาล นาเอสส์ (Pal Naess) จาก Innovation Norway กล่าวสุนทรพจน์ ในงาน Oslo Innovation Week 2018 (OIW18) ว่าต้องการสนับสนุนและผลักดันความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เปลี่ยนแปลงมาเป็นตัวขับเคลื่อนของกลยุทธ์ต่างๆ ในองค์กรและพูดถึงการเพิ่มเงินลงทุนจากภาครัฐให้เทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีวิธีคิดที่เป็นสากลมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงรางวัล European Green Award 2018 ที่กรุงออสโลเพิ่งชนะมาโดยใช้นโยบายการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล บริการภาครัฐที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน และเทคโนโลยีสะอาด

อิซาเบล ดาโวดี (Isabelle Davodi) จาก Folk Oslo ระบุถึงแนวคิดหลักการจัดงานปีนี้ว่าสื่อถึง “การร่วมมือกันทำงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วม” โดยยกตัวอย่างเช่น การขนส่งสาธารณะในกรุงออสโลที่ถูกเอ่ยมากที่สุดทั่วโลกว่ามีนวัตกรรมเป็นอย่างมาก และจะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างนวัตกรรมในอนาคต

ออสโลยังตอกย้ำความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก เช่น นาธานนา โอ เบรียน (Nathana O’Brien) จาก Singularity U และโอบอส วิเบอร์เก้ (Obos Viberke) ที่อธิบายเรื่องบล็อกเชนว่าประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าใจการใช้งานอย่างลึกซึ้ง แต่แค่เข้าใจถึงแนวคิดหลักโดยรวมก็เพียงพอแล้ว

การทำงานของบล็อกเชนสามารถเอามาเปรียบเทียบกับเอ็กเซล เวิร์คบุ๊ก และกูเกิลชีทได้ เพราะจะมีระบบรวมศูนย์และก๊อปปี้ของตนเอง เวลาใช้งาน สิ่งหนึ่งที่บล็อกเชนสามารถเข้ามาปรับปรุงและเปลี่ยนการทำงานคือ สมาร์ทคอนแทรค

แน่นอนว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในงาน OIW18 ในการมอบรางวัล Innovation Award ซึ่งเกณฑ์พิจารณา ได้แก่ ความพร้อมของธุรกิจต้นแบบ เพิ่มขยายได้ สร้างผลกระทบ การแก้ไขความท้าทายให้กับสังคม รางวัลที่ 1 ได้แก่ Otoro ซึ่งเป็นวิสาหกิจเริ่มต้นเกี่ยวกับการซื้อ-ขายพลังงานแสงอาทิตย์ออนไลน์

พร้อมกิจกรรม 100 Pitches Entry Round ที่มีสตาร์ทอัพไทยจากสตาร์ทอัพเกษตรรีคัลท์ (Ricult) และสตาร์ทอัพข้าวแจสเบอร์รี่ (Jasberry) เข้าร่วมการแข่งขัน รวม 64 ราย จาก 17ประเทศ

-โชว์เหนืออาหารเสริมเฉพาะบุคคล ยานยนต์ไร้คนขับ คืนชีพให้ทะเลทราย

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจในงาน Cutting Edge Festival  ที่รับฟังเสวนานวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของนอร์เวย์ มหาวิทยาลัยออสโล (University of Oslo) และจะได้นำมาใช้งานในกรุงออสโลในหลายเซคเตอร์

เริ่มต้นจากเทคโนโลยีด้านอาหารที่มีนวัตกรรมอาหารสุดล้ำอย่าง Genomics and Disruption of Healthcare เพื่อใช้การทำโภชนศาสตร์เฉพาะบุคคลหรือ personalized nutrition ในอนาคตจะมีการแนะนำอาหารที่ควรรับประทานโดยใช้ข้อมูลของยีนและสิ่งแวดล้อม โดยเราสามารถเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านี้กับโทรศัพท์มือถือ เป็นการตอบโจทย์ของแต่ละคนที่มียีนแตกต่างกัน และส่งผลต่อการย่อยอาหารไม่เท่ากัน

ด้านการขนส่งที่มีการใช้เทคโนโลยี 3D Vision เข้ามามีบทบาทการเดินเรือแบบอัตโนมัติ บริษัทซินเทฟ (SINTEF) จากออสโลได้พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และวัดผลฟาร์มปลาแซลมอนขนาดใหญ่ ซึ่งยานยนต์ไร้คนขับใต้น้ำนี้สามารถแสดงถึงระดับความลึกได้โดยใช้สีบ่งบอกบนหน้าจอ

เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมที่นอร์เวย์กำลังพยายามคิดค้นนวัตกรรมช่วยแก้ไขปัญหาวิกฤตทะเลทรายทั่วโลกโดยสร้างความเขียวขจีในทะเลทราย บริษัทเด๊สเสิร์ท คอนโทรล (Desert Control) ได้ใช้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อฟื้นฟูชีวิตต่อทะเลทราย ที่ใช้ Liquid Nanoclay (LNC) ซึ่งได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว ใส่ลงไปในทรายเพื่อทำให้ทรายกลายเป็นปุ๋ย (fertile soil) อีกครั้ง โดยปุ๋ยเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพในการทำให้พืชเติบโตมากกว่าปุ๋ยทั่วไปด้วย ปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปฟื้นฟูทะเลทรายในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ปากีสถาน แอฟริกาใต้

นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนารถแข่งไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่นักศึกษาวิศวกรรมจาก NTNU สร้างขึ้นมาและเอาไปแข่งขันมาแล้วทั่วโลกซึ่งก็สามารถหาเส้นทางที่ทำเวลาได้ดีที่สุด และบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ของนักศึกษานอร์เวย์

ฝั่งของหน่วยงานรัฐ เช่น ไปรษณีย์นอร์เวย์ (Posten Norge) ได้นำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้แล้วและผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไร้คนขับมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าหมายการใช้เครื่องยนต์มีอุปกรณ์รับสัญญาณหลายตัว เพื่อทดแทนกล่องและตู้ไปรษณีย์อีกด้วย

แน่นอนว่าเทคโนโลยีล้ำๆ ก็จะขาดแมชชีนเลิร์นนิ่งไปเสียไม่ได้ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยออสโลกำลังพัฒนาให้แมชชีนเหล่านี้เรียนรู้ถึงอารมณ์ในการเขียนข้อความของมนุษย์ได้ หรือเป็นการเจาะลึกความคิดเห็นอารมณ์ของบุคคลจากข้อความหรือ Opinion Mining from Text ที่เป็นอีกขั้นหนึ่งของการประมวลผลภาษาธรรมชาติ

ด้านการแพทย์ นอร์เวย์ได้เริ่มศึกษาการคำนวณทางคณิตศาสตร์มาใช้การรักษามะเร็งแบบเฉพาะบุคคลได้ ที่เรียกว่า Mathematics for Personalised Cancer Therapy โดยศาสตราจารย์อาร์โนลโด ฟริเกรสซี (Professor Arnoldo Frigessi) สร้างโมเดลคนไข้จากคอมพิวเตอร์ เพื่อจำลองการใช้ยาต่างๆ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณยา ลำดับการรักษา และผลข้างเคียงของยาแต่ละตัว โดยโมเดลดังกล่าวจะสามารถคำนวณและแนะนำวิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ได้

 

ชี้สตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบกระแสแรง

ทีมงานเอ็นไอเอยังได้ร่วมงาน Funding for Impact ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพ ปรึกษากับนักลงทุนเฉพาะด้านที่เป็นวิสาหกิจใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น และได้รับผลตอบแทนทางการเงิน หรือเป็นสตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบนั่นเอง (impact startups)

นักลงทุนกลุ่มนี้ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการมีแนวคิดด้านธุรกิจเข้ามาเสริมความรู้ด้านวิชาการและมีใจรักในด้านการสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคม เนื่องจากการมีมุมมองด้านธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญในการได้เงินทุนจากนักลงทุน

สตาร์ทอัพที่สร้างผลกระทบนี้มีหลากหลายสาขา ทั้งฟินเทค ศาสตร์การมีอายุยืนยาว และยาสังเคราะห์

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะเร่งสร้างเยาวชนหนุนนวัตกรรม

ศาตราจารย์แจน ฟาเกอร์เบิร์ค (Professor Jan Fagerberg) ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมและผลักดันระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทยว่า ขาดศักยภาพด้านบุคลากรมากที่สุด จึงต้องสร้างและผลักดันเยาวชนในการเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น

สิ่งสำคัญที่สุดในการทำนโยบายด้านนวัตกรรมของทุกประเทศคือการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น

ส่วนแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการวิจัยพัฒนาต่อจีดีพีประเทศ ต้องส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และต้องทำงานร่วมกันแบบที่มุ่งให้บรรลุภารกิจเป็นสำคัญ

Oslo Day 3_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0007
Oslo Day 3_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0009_0
Oslo Day 3_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0010
Oslo Day1_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0005
Oslo Day1_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0008
Oslo Day2_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0005
Oslo Day2_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0015
Oslo Day2_เน‘เน˜เน‘เนเน‘เน–_0019
previous arrow
next arrow