ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นในสายงานด้านเทคโนโลยี แม้ยังเผชิญความท้าทายมากกว่าผู้ชาย

14 October 2018 Lifestyle

ผลสำรวจจาก Booking.com เผยโดยรวมผู้หญิงส่วนใหญ่เห็นว่าการเป็นผู้หญิงทำงานในแวดวงเทคโนโลยีส่งผลดีต่อการทำงาน ในขณะที่ 77% ยอมรับว่ายังเผชิญกับปัญหามากกว่าผู้ชายในการเติบโตด้านหน้าที่การงานและประสบความสำเร็จ

Booking.com หนึ่งในบริษัทอีคอมเมิร์ซด้านการเดินทางและผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเผยผลการสำรวจข้อมูลทั่วโลกเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความหลากหลายทางเพศที่ยังคงพบอยู่เรื่อยมาในแวดวงเทคโนโลยี รวมถึงความคิด ประสบการณ์ และความมุ่งมั่นของผู้หญิงทั่วโลกที่มีต่อโอกาสและความก้าวหน้าในอาชีพการงานสายเทคโนโลยี

โดยการสำรวจนี้ได้เก็บข้อมูลจากผู้หญิงที่ทำงานในวงการเทคโนโลยี รวมถึงนักศึกษาหญิงที่สนใจทำงานในแวดวงนี้ และพบว่าผู้หญิงทั่วโลกเห็นว่างานในวงการเทคโนโลยีนั้นน่าทำ และมีความคิดเห็นเชิงบวกว่าเส้นทางของสายอาชีพนี้น่าจะเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งปัญหาหลักๆ คืออคติในขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน สัดส่วนจำนวนพนักงานในปัจจุบัน รวมถึงการขาดผู้หญิงที่มีอำนาจตัดสินใจและเป็นแบบอย่างที่ชัดเจน

ผู้หญิงทั่วโลกกว่า 3 ใน 5 (ร้อยละ 64) ที่ทำงานด้านเทคโนโลยี รวมถึงนักศึกษาที่สนใจสายงานด้านนี้ กล่าวว่าการเป็นผู้หญิงนั้นส่งผลดีต่อการทำงานในสายเทคโนโลยี ซึ่งโดยหลักแล้วเป็นเพราะในปัจจุบันยังขาดแคลนผู้หญิงที่ทำงานด้านนี้อย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 34) และเป็นโอกาสอันดีที่นักศึกษาหญิง (ร้อยละ 43) และนักเรียนมัธยมปลาย (ร้อยละ 37) ต่างยอมรับ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ดึงดูดผู้หญิงทั่วโลกด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น นวัตกรรมใหม่ (ร้อยละ 50) อาศัยความคิดสร้างสรรค์ (ร้อยละ 44) และสร้างแรงบันดาลใจ (ร้อยละ 26) ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่ท้าทายด้วย (ร้อยละ 34) นอกจากนี้ ผู้หญิงหลายคนยังเห็นว่าการได้ทำงานด้านเทคโนโลยีนั้นจัดเป็น “งานในฝัน” หรืออาชีพในอุดมคติ โดยพบว่าผู้หญิงทั่วโลกกว่า  4 ใน 5 ให้คำจำกัดความของ “งานในฝัน” ว่าเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง (ร้อยละ 84) รองลงมาคือการได้ทำงานที่ตรงความสามารถ (ร้อยละ 83) และเป็นงานที่เลือกเส้นทางได้ด้วยตัวเอง (ร้อยละ 81) อคติทางเพศในขั้นตอนการสมัครงานและการขาดผู้นำหญิงยังคงเป็นตัวจำกัดโอกาสของผู้หญิงในแวดวงเทคโนโลยี

ผลการสำรวจของ Booking.com เผยว่าแม้ผู้หญิงจะมีความสนใจในสายเทคโนโลยีและมองเห็นโอกาสในการทำงาน แต่ผู้หญิงทั่วโลกก็ยังคงมีข้อกังขาและมองว่าการเป็นผู้หญิงนั้นเป็นการเสียเปรียบต่อการเติบโตในสายอาชีพเทคโนโลยี โดยกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) ประสบปัญหานี้เพราะวงการเทคโนโลยีนั้นเป็นวงการที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ตามมาด้วยปัญหาอคติทางเพศในขั้นตอนการคัดคนเข้าทำงาน ซึ่งผู้หญิงเกือบ 1 ใน 3 ได้เผชิญกับอุปสรรคนี้ (ร้อยละ 32)

ในขณะเดียวกันการรับรู้ถึงอคติทางเพศในขั้นตอนการว่าจ้างนั้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ในประเทศบราซิล ผู้หญิงจำนวนครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) รู้สึกว่าความลำเอียงทางเพศในขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลนั้นส่งผลเสียต่อโอกาสที่จะได้รับการว่าจ้าง ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจ ในขณะที่ผู้หญิงจากประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปที่รู้สึกเช่นนี้มีจำนวนน้อยกว่า (ร้อยละ 18 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และร้อยละ 22 ในสหราชอาณาจักรและเยอรมนี)

นอกจากนี้ เกือบ 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลก (ร้อยละ 32) รู้สึกว่าการขาดผู้หญิงที่มีอำนาจตัดสินใจทำให้โอกาสก้าวหน้าในอาชีพสายเทคโนโลยีไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งนักเรียนหญิงมัธยมปลายส่วนใหญ่ก็เห็นเช่นเดียวกัน (ร้อยละ 40) โดยปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ส่งผลให้ผู้หญิงกว่า 3 ใน 4 ทั่วโลกรู้สึกว่าได้เผชิญอุปสรรคมากกว่าผู้ชายในการเข้าทำงาน (ร้อยละ 78) รวมถึงในการเติบโตและประสบความสำเร็จ (ร้อยละ 77) ในบางอาชีพ ความสนใจทำงานด้านเทคโนโลยีในหมู่ผู้หญิงรุ่นใหม่ถือเป็นโอกาสดีสำหรับการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง

ผลการสำรวจของ Booking.com ยืนยันถึงความสนใจอาชีพในสาขาเทคโนโลยีในกลุ่มคนที่มีความสามารถในเจเนอเรชั่นถัดไป และเวลาเดียวกันก็เน้นย้ำว่าเราจะสามารถเริ่มลดความแตกต่างระหว่างเพศได้ที่จุดใด นักเรียนหญิงมัธยมปลาย (ร้อยละ 43) และนักศึกษาหญิง (ร้อยละ 40) ทั่วโลกเชื่อมั่นว่าอาชีพด้านเทคโนโลยีเปิดให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ (เทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 33) นักเรียนมัธยมปลายรู้สึกว่าอาชีพทางเทคโนโลยีน่าสนใจอย่างยิ่งเพราะเปิดโอกาสให้ประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่ยังอายุน้อย (ร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ที่มีประสบการณ์ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 20) เช่นเดียวกับความเชื่อที่สามารถกำหนดเส้นทางของตนเอง (ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้ประกอบอาชีพด้านนี้ที่มีประสบการณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 22) และเหนือสิ่งอื่นใดคือนักเรียนนักศึกษาหญิงต่างก็ต้องการให้อาชีพที่เลือกนั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้ โดยมีนักเรียนมัธยมปลายร้อยละ 88 และนักศึกษา ร้อยละ 85 ที่มีความเห็นเช่นนี้ การศึกษาและการสนับสนุนจากทางบ้านสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างเพศได้

การสำรวจเกี่ยวกับการเลือกอาชีพพบว่า การเรียนรู้และการศึกษาในช่วงต้นมีอิทธิพลสำคัญต่อการเลือกอาชีพในอนาคตของผู้หญิง โดยผู้หญิงเกือบ 4 ใน 5 ทั่วโลกกล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจในการเลือกสายอาชีพมาจากความรู้ความสามารถที่ได้เรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย (ร้อยละ 79) และจากวิชาที่ลงเรียน (ร้อยละ 77) ในขณะเดียวกัน ที่ประเทศจีนและอินเดีย ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพตามพ่อ-แม่ของตนเองมากกว่าที่อื่น (ร้อยละ 64 และร้อยละ 52 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 40) นอกจากนี้เมื่อถามถึงตัวเลือกอาชีพที่สนใจ ผู้หญิงในประเทศจีนและอินเดียยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มมากกว่ากลุ่มอื่นที่จะเปลี่ยนไปยังหน่วยงานด้านเทคโนโลยีที่เคยเข้าร่วมมาก่อน  (เช่น Girls Who Code) (ร้อยละ 36 และร้อยละ 27 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 20) ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงอาจอธิบายได้ว่าทำไมอัตราผู้ที่เข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์โดยทั่วไปของประเทศในทวีปเอเชียจึงสูงกว่าประเทศแถบตะวันตก รวมถึงแสดงว่าการเริ่มดำเนินการแต่เนิ่นๆ จะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในสาขาเทคโนโลยีให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น