SoundCloud เริ่มแผนสร้างรายได้ให้ศิลปินในรอบ 4 ปี

14 October 2018 Technology

ซาวด์คลาวด์ (SoundCloud) บริษัทเทคโนโลยีด้านบริการเพลงออกมาประกาศโมเดลธุรกิจใหม่หวังสร้างรายได้เพื่อดึงดูดนักดนตรีที่อยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว หลังจากปล่อยให้ศิลปินแห้งเหี่ยวมานานหลายปี

โดยโมเดลธุรกิจของ SoundCloud  ในครั้งนี้ คือการมีส่วนแบ่งรายได้ให้กับศิลปินระดับ Premier Program ซึ่งเป็นกลุ่มที่จ่ายเงินให้กับแพลตฟอร์มตั้งแต่ 8 – 16 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และมีการสตรีมมิ่งเพลงไปฟังมากกว่า 5,000 ครั้ง/เดือน โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์

โดย SoundCloud กล่าวว่า การมีส่วนแบ่งรายได้ให้กับศิลปินนี้จะช่วยให้ SoundCloud สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเพลงรายอื่นได้ด้วย อย่างไรก็ดี ทางบริษัทไม่มีการชี้แจงว่า ส่วนแบ่งรายได้นี้มีการคิดอย่างไร และศิลปินจะได้ส่วนแบ่งเท่าไรจากยอดสตรีมมิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ศิลปินกลุ่มพรีเมียร์นี้จะได้รับสิทธิในการโพสต์เพลงใหม่ ๆ ขึ้นไปยังแพลตฟอร์มได้โดยตรง และจะได้รับฟีดแบ็กจากแฟน ๆ ได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ จาก SoundCloud ด้วย ซึ่งทางแพลตฟอร์มหวังว่า โมเดลธุรกิจนี้จะสามารถดึงดูดศิลปินเข้ามาอยู่ใน SoundCloud กันมากขึ้น และสามารถใช้แนวทางนี้ในการโฆษณาว่า SoundCloud  เป็นแพลตฟอร์มที่ศิลปินสามารถอัปโหลดคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟเพื่อดึงดูดผู้ฟังเข้ามาใช้งานได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การเติบโตของ SoundCloud  ถือว่ามีหลายจุดที่น่าสนใจ โดย SoundCloud เติบโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น และบริษัทก็ดูว่ามีปัญหาหลายจุด เช่น การระดมทุนได้ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีก่อน ก็เกิดขึ้นหลังจากบริษัทได้เลย์ออฟพนักงานออกไปถึงร้อยละ 40 และทำให้เคอรี่ เทรนเนอร์ ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอ ส่วนอเล็กซ์ ลุง (Alex Ljung) อดีตซีอีโอก็ได้ถอนตัวออกไปด้วย

นอกจากนี้ หากหันมาดูเรื่องคู่แข่ง ตอนนี้ SoundCloud เจอทั้ง YouTube Music ที่กำลังขยายตลาด หรือ Spotify ก็เริ่มให้ศิลปินอินดี้อัปโหลดเพลงของตัวเองขึ้นไปยังแพลตฟอร์มได้โดยตรงแล้วเช่นกัน เรียกได้ว่าการเติบโตที่ช้าเกินไปของ SoundCloud กำลังทำให้คู่แข่งแข็งแรงขึ้น และมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจมากกว่า SoundCloud แล้วนั่นเอง

สำหรับ SoundCloud  สิ่งที่บริษัทประกาศออกมาอย่างภูมิใจอาจเป็นเรื่องของการสร้างรายได้ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงมีอัตราการเติบโตของผู้ใช้งานที่เหนือกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี ในปี 2559 บริษัทเคยขาดทุนกว่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเคยมีแผนจะไม่ทำกำไรจนกว่าจะถึงปี 2563 ด้วย


อ้างอิง: Techcrunch.com