2 สตาร์ทอัพ “Airportels – TakeMeTour” คว้าชัยเวที “TAT Startup”

27 September 2018 Startups

“Airportels – TakeMeTour” สองสตาร์ทอัพไทยคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที “TAT Startup ผู้ประกอบการยุคใหม่” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านผู้ว่าการฯ ชี้พร้อมร่วมมือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่แก้ Pain Point ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย หลังพบมีไอเดียหลากหลายและสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้จริง

นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า โครงการ “TAT Startup ผู้ประกอบการยุคใหม่” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจประเภทนี้สามารถจุดประกายให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตได้ และเพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสขยายตัวไปยังต่างประเทศ โดยผู้เข้ารอบทั้ง 6 ทีมจากโครงการนี้จะได้รับโอกาสไปนำเสนอผลงานในงาน World Travel Market (WTM) 2018 ซึ่งเป็นงานมหกรรมด้านการท่องเที่ยวที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษในระหว่างวันที่ 5 – 7 พฤศจิกายนนี้ด้วย

ในพิธีมอบรางวัลได้เปิดโอกาสให้ทั้ง 6 ทีมผู้เข้ารอบได้นำเสนอผลงาน ซึ่งประเภทต่อยอดธุรกิจประกอบด้วย ทีม TakeMeTour, Golfdigg และ MuayThaiOK ส่วนประเภทธุรกิจเกิดใหม่ ประกอบด้วยทีม Airportels, UMT (ผลงาน Tuk Tuk Hop) และ Infinite FREAK (ผลงาน Immersive Ayutthaya) จากนั้นได้มีการประกาศรางวัลชนะเลิศของแต่ละประเภท ซึ่งผู้ชนะเลิศในประเภทต่อยอดธุรกิจได้แก่ TakeMeTour ขณะที่ประเภทธุรกิจเกิดใหม่ได้แก่ Airportels

นายอภิโชค ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการทั่วไปของ Airportels เผยว่า สำหรับจุดเด่นของ Airportels คือการบอกว่าตนเองนั้นเป็น Uber for Luggage ที่เห็นปัญหาว่านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเที่ยวประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่วันแรกที่มาถึง เนื่องจากต้องแบกสัมภาระไปยังโรงแรมเพื่อรอเช็กอินตอน 14.00 น. ก่อน ทางแอร์พอเทลล์จึงมองว่าตนเองสามารถเข้ามาตอบโจทย์นี้ได้ด้วยบริการขนส่งกระเป๋าเดินทางจากสนามบิน – โรงแรมทั่วประเทศ ในราคาประหยัด และการันตีความตรงต่อเวลานั่นเอง ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ Airportels ประมาณ 200 – 300 ราย/วัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ อายุน้อย และมีการศึกษาดี เช่น นักท่องเที่ยวจากจีน เกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น

ส่วนจุดเด่นของ TakeMeTour จากการเปิดเผยของนายอมรเชษฐ์ จินดาอภิรักษ์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งเทคมีทัวร์ คือการเป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยวกับไกด์ หรือที่เรียกว่า Local Experts ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นเพื่อให้เป็นผู้แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหารต่างๆ ที่น่าสนใจให้ พร้อมมองว่าการมีคนในท้องถิ่นเป็นผู้แนะนำจะช่วยลดปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวลงได้ และช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นได้อย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน มีผู้จองทัวร์ผ่าน TakeMeTour หลักพันราย/เดือน และคาดว่าจะพุ่งขึ้นเป็น 3,000 ราย/เดือนในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูกาลที่การท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งสองทีมผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นเงินสด 300,000 บาทพร้อมโล่รางวัล ส่วนทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศกลุ่มต่อยอดธุรกิจ ได้แก่ MuayThaiOK และ Golfdigg โดยได้รับรางวัลทีมละ 200,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ และทีมผู้ได้รางวัลรองชนะเลิศกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ ได้แก่ Infinite FREAK และ UMT ได้รับรางวัลทีมละ 200,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับเช่นกัน

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพัฒนาสตาร์ทอัพในกลุ่ม TravelTech ว่า สิ่งที่สตาร์ทอัพด้าน TravelTech ต้องทำก็คือหาทางทำให้บริการของตนเองเป็นที่ถูกใจและได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยว ส่วนหน้าที่ของ ททท. คือการต่อยอดความสามารถเหล่านั้น ซึ่งก็คือข้อมูลอินไซด์ที่ ททท. มีจากสำนักงานในต่างประเทศทั้ง 29 แห่ง โดย ททท. ยินดีจะให้ความร่วมมือเพื่อให้ธุรกิจของสตาร์ทอัพเติบโต ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยไปปรากฏตัวในงาน WTM2018 ด้วย “แม้ว่าเราอาจไม่ได้ลูกค้าตั้งแต่วันแรกที่ไปงาน WTM2018 แต่มันก็เป็นโอกาสของธุรกิจ หน้าที่ของผมคือการทำให้สตาร์ทอัพเหล่านี้ได้เจอนักธุรกิจที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้เยอะที่สุด เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับคนอื่น เราแข่งกับตัวเองในการให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด และต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เหล่านี้คือสิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ในการสร้างสตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและยั่งยืน”

Startup-TAT1 1
Startup-TAT1 2
Startup-TAT1 3
Startup-TAT1 5
Startup-TAT1 6
Startup-TAT1 7
Startup-TAT1 8
Startup-TAT1 9
Startup-TAT1 10
Startup-TAT1 11
previous arrow
next arrow