เอไอเปลี่ยนโลก จริงหรือ?

23 August 2018 Technology

ในขณะที่หลายคนมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เริ่มแทรกตัวเข้ามาในหลากหลายธุรกิจว่าจะเข้ามาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการเติบโตได้อย่างไรบ้างนั้น ทรูดิจิทัลพาร์ค ก็ได้จัดงานเสวนา “คอร์ปอเรท คลับ” ในหัวข้อ “Artificial Intelligence: A real game changer for the economy and society” เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

โดยนางสาวแอกเซลล์ เลอแมร์ (Axelle Lemaire) หัวหน้าแพลตฟอร์มเทอร์รา นูเมอร์ราตา (Terra Numerata) จากโรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) กล่าวว่า “เอไอในปัจจุบันเข้ามาอยู่ใกล้ชิดมนุษย์มากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต โดยหากเรียกว่าเอไออาจฟังดูเป็นเรื่องซับซ้อนเข้าใจยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในอุปกรณ์ เช่น สมาร์ตโฟน ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีการนำเอไอมาใช้งานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในหลายๆ ด้านแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังมีเอไออีกบางประเภทที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่น เอไอประเภท Deep Learning หรือ Artificial General Intelligence (AGI)”

การใช้เอไออย่างกว้างขวางในขณะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนในการใช้งานเอไอนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับในอดีต ส่งผลให้มีผู้พัฒนาเอไอหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดได้เยอะมากขึ้น หรือในส่วนของผู้เล่นเดิมในตลาดก็สามารถขยายตลาดออกไปได้มากกว่าเดิม สิ่งแวดล้อมเช่นนี้ทำให้การใช้เอไอมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดยปัจจุบัน การใช้เอไอกระจายตัวออกไปในหลากหลายสาขา ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐบาล โดยภาคเอกชนอาจใช้เอไอเพื่อการให้บริการลูกค้าที่ดีขึ้น หรือการนำเอไอมาพัฒนาร่วมกับ IoT เพื่อรวบรวมข้อมูลและคาดการณ์การซ่อมบำรุงเครื่องจักรในอนาคต ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลอาจใช้เอไอเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวิเคราะห์ความผันผวนของข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพการเดินเรือ หรือการพยายามป้องกันการโจมตีที่จะเข้ามา

“เราต้องยอมรับว่าทุกวันนี้การพัฒนาที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วนั้นมีเอไอสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งในเรื่องเมืองอัจฉริยะ และอื่นๆ สิ่งที่เราต้องตระหนักอีกข้อหนึ่งก็คือข้อมูลควรจะถูกนำมาแชร์ร่วมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นพาร์ทเนอร์กันหรือคู่แข่งกันก็ตาม โดยในฝรั่งเศส เรามีการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับเอไอทุกวัน และความตระหนักของสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นด้านจริยธรรม และผลกระทบอื่นๆ ของเอไอก็มีค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ประเด็นเหล่านี้ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง”

โดยเธอเองได้เคยจุดประเด็นเกี่ยวกับความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลขั้นพื้นฐานที่สามารถเปิดเผยได้ รวมถึงการมีอัลกอริทึมสาธารณะสำหรับใช้งานกันในสหภาพยุโรป (EU)

ทั้งนี้ เธอยังได้กล่าวด้วยว่า ฝรั่งเศสและไทยมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยในสาขาเอไอที่ไม่มากนัก รวมถึงมีความตระหนักในความสามารถของเอไอที่จำกัด อย่างไรก็ดี ความท้าทายของประเทศไทยและฝรั่งเศสต่อการมาถึงของเอไออาจแตกต่างกัน ซึ่งการปล่อยให้ภาคสังคมมีการดีเบทจะช่วยให้แต่ละประเทศหาคำตอบของตนเองได้ดีที่สุด

“การนำเอไอมาปรับใช้ในด้านการปกครอง สิ่งที่สำคัญข้อหนึ่งคือใครจะเป็นผู้ออกแบบพารามิเตอร์ของอัลกอริทึม ซึ่งในจุดนี้ถือเป็นเรื่องยากที่จะออกแบบระบบให้เกิดความสมดุลระหว่างประเด็นด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล รวมถึงยังมีเรื่องสิทธิส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สำคัญไม่แพ้กันด้วย จึงอาจต้องมีใครสักคนขึ้นมาเป็นผู้นำและเรียกร้องให้มีการทำเอไอให้มีความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะมากขึ้น” นางสาวแอกเซลล์กล่าว

ด้านนายเรย์ แทน ผู้อำนวยการฝ่ายการขายของ WeWork ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า เอไอมีศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ มันสามารถจดจำเสียง จดจำข้อความ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) แมชชีนเลิร์นนิ่ง หรือความสามารถในการคาดการณ์ต่างๆ โดยใช้บิ๊กดาต้า ด้วยเหตุนี้ เอไอจึงถูกใช้ในบริการหลายๆ อย่าง รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ อย่างเช่นใน WeWork ที่ใช้เอไอในหลายๆ ด้าน เช่น ใช้ในการบริหารจัดการโปรเจ็คต์ต่างๆ ใช้วิเคราะห์ความก้าวหน้าของงาน และลดการทำงานซ้ำซ้อนกัน อย่างไรก็ดี สิ่งที่เอไอยังทำไม่ได้ก็คือความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนให้เหมือนกับที่คนกระทำต่อคนด้วยกันนั่นเอง

ส่วนในด้านของการเงินการธนาคาร ดร.สรัน อนุชา (Saran Ahuja) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลอาวุโสจากเอสซีบี อบาคัส เผยว่า เอไอมีบทบาทสำคัญในการสร้างโมเดลเพื่อประเมินเครดิต ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายและการทำเอกสารลงได้อย่างมาก นอกจากนั้น เอไอยังใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจ และพัฒนาการให้บริการ ซึ่งในอนาคตจะสามารถช่วยให้ธุรกิจหาโซลูชันที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ข้อจำกัดของเอไอคือข้อมูล การเก็บข้อมูลจากลูกค้ากลุ่มเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งการพัฒนาเอไอ ยังต้องการคนจากหลากหลายสาขา ไม่ใช่มีแค่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลก็พัฒนาได้