Iflix ปรับโหมดคอนเทนต์ ดูฟรีและวีไอพี

22 August 2018 Lifestyle

ไอฟลิกซ์ (Iflix) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการสตรีมมิ่งและดาวน์โหลดซีรีส์และภาพยนตร์ในตลาดเกิดใหม่ เปิดตัว iflix 3.0 เปลี่ยนดีไซน์ ปรับเมนูฟีเจอร์ให้ใช้ง่าย และจัดคอนเทนต์บางส่วนให้สมาชิกรับชมฟรี

นางสาวอาทิมา สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอฟลิกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Iflix 3.0 ดีไซน์ใหม่ทำให้การใช้งานง่ายขึ้น และจัดคอนเทนต์สำหรับสมาชิกทั้งแบบรับชมฟรีและเสียค่าบริการ

Iflix FREE เป็นบริการฟรีใหม่ที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าชมคอนเทนต์ทั้งหมดได้ ประกอบด้วยซีรีส์ หนัง รายการทีวี และถ่ายทอดสดจากช่องทีวี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

บริการใหม่ที่ให้สมาชิกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อาทิ ภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการทีวี และคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ ได้แก่ ภาพยนตร์และซีรีส์ยอดนิยม คอนเทนต์สั้นรูปแบบใหม่ คอนเทนต์จากครีเอเตอร์ในประเทศ ซีรีส์ภาพยนตร์ นอกจากนี้ยังรวมถึงไฮไลต์ฟุตบอลของลีกชั้นนำอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ลาลีกา สเปน และอื่นๆ รวมทั้งคอนเทนต์จากสำนักข่าวต่างๆ รวมถึงออริจินอลคอนเทนต์

Iflix ได้เพิ่มฟีเจอร์ดาวน์โหลดสำหรับดูออฟไลน์เพื่อให้สมาชิกสามารถดาวน์โหลดเรื่องโปรดล่วงหน้าไว้ดูเมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ต

ในส่วนของ Iflix VIP ได้รวมคอนเทนต์ทั้งหมดในราคาสมาชิกรายเดือน 100 บาท/เดือน หรือ 1,000 บาท/ปี เพื่อเข้าถึงคลังความบันเทิงได้ไร้ขีดจำกัด อาทิ ซีรีส์ ภาพยนตร์ รายการทีวี สารคดี ถ่ายทอดสด เทปบันทึกการจัดคอนเสิร์ต และการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค ไม่มีโฆษณา

ทั้งนี้กลุ่มผู้ชม Iflix ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ช่วงอายุ 25-34 ปี และ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 และ 33 ตามลำดับ ในขณะที่เด็กวัยรุ่น (ไม่เกินอายุ 18 ปี) มีสัดส่วนร้อยละ 12 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 45-54 ปี และอายุ 53-64 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 และ 2 ตามลำดับ

โดยสมาชิกใช้เวลารับชมคอนเทนต์ Iflix โดยเฉลี่ยวันละ 124 นาที หรือคิดเป็น 2.5 วัน/สัปดาห์ โดยช่วงที่เสพสื่อคอนเทนต์มากที่สุดคือเวลา 21.00 – 01.00 น.

การเข้าถึงคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์โมบายมากที่สุดคือร้อยละ 69 รองลงมาคือผ่านเว็บ ร้อยละ 20 และผ่านทีวี ร้อยละ 11 โดยอัตราการใช้อุปกรณ์โมบายผ่านแพลตฟอร์มแอนดรอยด์ ร้อยละ 72 และไอโอเอส ร้อยละ 28

Iflix เป็นสตาร์ทอัพที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันให้บริการอยู่ใน 28 ประเทศ และปัจจุบันมีผู้ใช้บริการถึง 15 ล้านราย เพิ่มขึ้นจาก 6.6 ล้านรายในปี 2560 และ 2.3 ล้านรายในปี 2559