เอ็นไอเอ จับมืออิสราเอล เร่งเครื่องร่วมพัฒนานวัตกรรม มุ่งเกษตรอัจฉริยะ รถยนต์ไร้คนขับ ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้

1 August 2018 Startups

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล หรือ IIA เดินหน้าความร่วมมือพัฒนาระบบนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ

โดยมุ่งสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างบริษัทไทยกับบริษัทอิสราเอลผ่านกลไกการให้ทุน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับอิสราเอล ที่มีความโดดเด่นการเป็นสตาร์ทอัพเนชั่นของโลก จะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเปิดโอกาสทางธุรกิจและการร่วมลงทุนของเอกชนทั้งสองประเทศ และกรุยทางสู่เป้าหมายการเป็นสตาร์ทอัพเนชั่นและขยายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของไทยสู่สากล

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน และเปิดรับข้อเสนอจากเอกชน หากสามารถจับคู่เอกชนของทั้งสองประเทศได้ NIA จะเป็นผู้ให้ทุนแก่ผู้ประกอบการไทย ขณะที่ IIA เป็นผู้ให้ทุนแก่บริษัทอิสราเอลที่จับคู่ทำโครงการกับบริษัทไทย

อามี แอปเปิลโบม หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ และประธานคณะกรรมการของ IIA กล่าวว่า อิสราเอลจะนำจุดแข็งทางเทคโนโลยีด้านเกษตรที่แม่นยำมาช่วยเพิ่มผลิตผลให้เกษตรกรของไทยได้

Startup-MOU_01

ความแข็งแกร่งด้านซอฟต์แวร์ อัลกอริทึม ทำให้บริษัทรถยนต์ระดับโลกเข้าไปตั้งหน่วยงานวิจัยพัฒนาในอิสราเอล เพื่อรองรับการปรับตัวของยานยนต์ไร้คนขับ ที่เสริมกับอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย และความเชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ที่มีการทำธุรกรรมดิจิทัลมากขึ้น

การร่วมมือครั้งนี้เป็นการเริ่มต้น และในอนาคต หากมีบริษัทไทยสนใจเข้าไปลงทุนตั้งสำนักงานในอิสราเอล หรือหาพันธมิตรในอิสราเอล IIA มีโปรแกรมสนับสนุนบริษัทต่างชาติ (MNC) ที่รัฐบาลจะเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทเหล่านั้นด้วย

ทั้งนี้ความสำเร็จของอิสราเอลที่เป็นสตาร์ทอัพของโลกนั้น อยู่ที่การมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าของประชากรที่มองว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้” ซึ่งได้เผชิญความท้าทายจากการปลูกพืชในทะเลทราย การต้องเผชิญกับความมั่นคงทางทหาร ทำให้พลเมืองที่มีอายุน้อยต้องเป็นทหารและได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทางทหาร การมีความมั่นคงและทักษะการประสานทำงานร่วมกันหลายฝ่าย

“พลเมืองของเราได้ทำงานในบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งฐานในอิสราเอล เราได้เรียนรู้หลายสิ่ง และพวกเขาเหล่านั้น บางส่วนก็ออกมาตั้งสตาร์ทอัพเอง”

ทั้งนี้ หากไทยจะเร่งเข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม จะต้องปรับปรุงระบบการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษาทั้งระบบให้มีคุณภาพเพื่อสร้างคนโดยเฉพาะวิศวกร “หากปราศจากคนคุณภาพแล้ว ก็ยากที่จะผลักดันนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้”

Startup-MOU_02

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า อิสราเอลยังมีความน่าสนใจในการพัฒนาสตาร์ทอัพและสามารถนำมาต้นแบบในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและธุรกิจนวัตกรรมไทยได้ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการการเข้าถึงกลุ่มเงินทุน การจัดการทรัพยากรและการสร้างผลผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดโดยเฉพาะประชากรที่ทำงานเกี่ยวกับเกษตรกรรม การสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคการศึกษาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งการสนับสนุนการเงินจากภาครัฐสู่ภาคธุรกิจ การดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติระดับโลกมาตั้งศูนย์วิจัยเพื่อทำงานร่วมกับนักวิจัยและสถาบันการศึกษา ตลอดจนวิธีการผลักดันจำนวนสตาร์ทอัพต่อจำนวนประชากรที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 8,000 ราย (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และมีสัดส่วนการประสบความสำเร็จ 1 : 10 ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีความโดดเด่นในการพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไซเบอร์ ซึ่งไทยจะต้องนำต้นแบบในการสนับสนุนระบบนิเวศมาพัฒนา

โดยมี 4 ส่วนที่จำเป็น คือ

1) ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อก่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การสร้างประสบการณ์ในการพัฒนา และการสร้างมาตรฐานของการวิจัยด้านไซเบอร์

2) กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมไซเบอร์ โดยเน้นในเรื่องนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ

3) เทคโนโลยี  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่พร้อมจะนำไปสู่กระบวนการใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ และ

4) บุคลากรด้านไซเบอร์ ที่จะต้องสร้างให้เกิดผู้เชี่ยวชาญ และการสร้างองค์ความรู้ด้านไซเบอร์พร้อมด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น

สำหรับปัจจุบัน ประเทศอิสราเอลมีนวัตกรรมอันดับที่ 11 ของโลก เป็นอันดับที่ 1 ในหลากหลายด้าน ได้แก่ การเชื่อมโยงทางนวัตกรรมระหว่างองค์กร ความสามารถในงานวิจัยทางธุรกิจ นักวิจัย การส่งออกสินค้า ICT กองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพ (Venture Capital: VC) และยังอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกในด้านการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจบริการและการต่อยอดทางวัฒนธรรม และการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม ISO:9001